เกษตรกรไทยควรรู้ 20 ข้อสำคัญหากคิดจะทำโรงเรือนปลูกพืชแนวใหม่ ไม่ต้องสนใจดินฟ้าอากาศ
เกิดเป็นเกษตรกรยุคใหม่ ใครเขาง้อฟ้าง้อฝนกัน เพราะด้วยนวัตกรรมการปลูกพืชในโรงเรือนเริ่มเข้ามามีบทบาทในการปลูกพืชผักมากขึ้น เพราะลงทุนแค่ครั้งเดียว แต่คุณสามารถปลูกพืชได้ตลอดทั้งปี วันนี้เราเลยนำข้อมูล 20 ข้อสำคัญที่คุณต้องรู้ก่อนจะทำโรงเรือนมาฝากกัน รับรองว่าถ้าได้รู้ 20 ข้อที่เรากำลังจะกล่าวมานั้น คุณจะสามารถสร้างรายได้ และกำไรเข้ากระเป๋าได้ตลอดปีเลยล่ะ
1.รู้จักพืชผักของคุณก่อน
ก่อนที่จะปลูกโรงเรือนนั้น อันดับแรกคุณต้องรู้ก่อนว่าคุณต้องการที่จะปลูกอะไร พืชผักของคุณต้องการแดดจัดหรือไม่ เพื่อที่จะได้เป็นการวางแผนในระยะก่อนเริ่มทำการเพาะปลูก
2.การเตรียมพื้นที่ในการสร้างโรงเรือน
ควรปรับหน้าดินให้เรียบและมั่นใจว่า ดินมีความหนาแน่นมาก ไม่ยุบตัวหรือร่วนซุยจนไม่สามารถทำการปักอะไรลงไปได้
3.ทิศทาง
เรื่องทิศทางการสร้างโรงเรือนเป็นเรื่องสำคัญที่คุณไม่ควรมองข้าม ทิศทางที่แนะนำคือตั้งเป็นแนวทิศเหนือและใต้ เพราะพืชจะได้รับแสงแดดและทิศทางลมได้อย่างเต็มที่
4.ค่าใช้จ่าย
ในการปลูกโรงเรือนแน่นอนว่าต้องมีค่าใช้จ่ายที่ตามมา ราคาก็จะขึ้นอยู่กับวัสดุที่นำมาสร้าง ถ้าต้องการลดต้นทุนอาจจะนำไม้ไผ่มาแทนเหล็กในการก่อสร้างโรงเรือนก็ได้
5.โครงของโรงเรือน
ตัวโครงเสาของโรงเรือนที่นิยมเป็นส่วนมากจะเป็นเหล็กเพราะมีความแข็งแรง ทนแดด ทนฝนได้ดี แต่จะมีปัญหาตามมาคือเจ้าสนิมตัวร้าย หรืออาจจะนำไม้ไผ่หรือไม้ต่างๆ มาใช้แทนเหล็กก็ได้เช่นกัน
6.ขนาดของโรงเรือน
ขนาดที่เป็นมาตรฐานและได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจะเป็นขนาด กว้าง 6 เมตร ยาว 24 เมตร และสูง 4.8 เมตร
7.วัสดุหลักในการสร้างโรงเรือน
-เหล็ก หรือ ไม้
-คลิปล็อก หรือ รางวายล็อก
-พลาสติกคลุมโรงเรือน
8.การวางเสาโรงเรือน
จะวางเสาทั้งหมด 14 ต้น โดยวางฝั่งละ 7 ต้น มีระยะห่างระหว่างต้นคือ 4 เมตร ขนาดของปากหลุมในการลงเสาคือ 20*20 ซม. และขุดหลุมลึก 50 ซม. โดยอาจจะเทปูนเสริมความมั่นคงลงไปอีกรอบหนึ่ง
9.การวางคานเหล็ก
โดยจะวางคานเหล็กในส่วนของหลังคาเป็นแนวยาว โดยให้ปลายทั้งสองเชื่อมต่อกับปลายโค้งมนทั้งสองชั้น ที่ประกอบด้วยหลังคาหลักและหลังคารอง
10.การคาดท่อเสริมความแข็งแรง
โดยจะทำการไขว้ท่อรูปกากบาทบริเวณช่องว่างที่ 1, 3, 4, และ 6 ของทั้งสองฝั่งเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับตัวโรงเรือน
11.การป้องกันสนิมกัดกินโครงเสาโรงเรือน
คือการก่อปูนขึ้นเสาสูงจะเป็นตัวช่วยไม่ให้สนิมกินเสาเหล็กของโรงเรือนได้
12.สีน้ำมันสำคัญอย่างไร
หากคุณคิดจะทาแค่สีกันสนิม คงจะต้านทานแรงน้ำที่โดนเหล็กทุกวันไม่ไหว โดยคุณสามารถทาสีกันสนิมและพ่นด้วยสีน้ำมันทับอีกชั้น เพื่อยืดอายุการใช้งานของเสาให้นานมากขึ้น
13.ท่อกัลวาไนซ์
หากใครที่ยังกังวลในเรื่องสนิม มีอีกหนึ่งทางเลือกคือท่อกัลวาไนซ์ที่มีคุณสมบัติต่อการทนสนิมได้เป็นอย่างดี
14.ความคุ้มค่า
หากคิดจะสร้างโรงเรือนแล้วคุณต้องเลือกวัสดุที่ทนทาน เพื่อจะได้มีความคุ้มค่าในการใช้งานได้นานหลายสิบปี ไม่ต้องลงทุนสร้างใหม่บ่อยๆ หากใช้วัสดุคุณภาพไม่ดี
15.ขนาดของพลาสติกคลุมหลังคา
มีความกว้าง 4 เมตร ยาว 25 เมตร ทั้งหมด 3 ชิ้น
16.อายุการใช้งานพลาสติกคลุมหลังคา
มีระยะการใช้งาน 2-3 ปี หลังจากนั้นประสิทธิภาพจะน้อยลง แสงผ่านได้ไม่เต็มที่ ซึ่งคุณควรเปลี่ยนใหม่นั่นเอง
17.ข้อควรระวังในการติดตั้งพลาสติกคลุมหลังคา
ไม่ติดตั้งคลิปล็อกกับพลาสติกให้ตึงหรือหย่อนเกินไป
18.ช่วงเวลาที่ควรติดตั้งหลังคาพลาสติก
คือช่วงเวลา 11.00 น. ถึง 15.00 น. เพราะเป็นช่วงที่มีแสงแดดจัด พลาสติกจะยืดได้เต็มที่
19.การดูแลรักษาหลังคา
ให้คุณนำน้ำฉีดรดบริเวณหลังคาเป็นประจำ หากพบรอยขาดให้นำพลาสติกชิ้นเล็กไปปะติด
20.ตรวจสอบคลิปล็อกอยู่เสมอ
คุณต้องตรวจสอบว่าคลิปล็อกนั้นยังอยู่ในตำแหน่งเดิม ไม่หลุดหรือเลื่อนแบบผิดองศา
เพียงแค่ 20 ข้อนี้เท่านั้น คุณก็สามารถใช้ประโยชน์จากโรงเรือนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ คุ้มค่ากับเงินที่ลงทุนไปทุกบาททุกสตางค์ ฟ้าฝนหรือแดดแรงแค่ไหนก็ไม่เป็นปัญหาต่อการสร้างรายได้ของเกษตรกรไทยอย่างแน่นอน